การศึกษาพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า คอนเทนเนอร์รองรับ EEC

          โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นนโยบายที่สำคัญระดับชาติที่รัฐบาลชุดปัจจุบันตั้งเป้าให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการผลักดัน ASEAN Economic Community (AEC) ให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือได้อย่างเสรี ซึ่งไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย (East-West Economic Corridor) และเชื่อมต่อจีนตอนใต้เข้ากับภูมิภาคแหลมทอง (North-South Economic Corridor) ทำให้ไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคและการเป็นประตูสู่เอเชียได้ ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ต่างๆ อาทิ Inland Container Depot (ICD) จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าให้สมบูรณ์ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้สมบูรณ์

          ICD คือ สถานที่อำนวยความสะดวกนอกท่าเรือเป็นสถานที่สำหรับการเปิดตู้สินค้าขาเข้า รวบรวมสินค้าออกเข้าตู้ และเก็บรักษาตู้คอนเทนเนอร์ (ทั้งตู้ที่เปิดแล้วตู้ที่รอการบรรจุ และตู้เปล่า) ดังนั้น ICD จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบโลจิสติกส์ในการรวบรวม (Consolidate) และกระจาย (Distribution) สินค้า
ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งในปัจจุบัน ICD ของรัฐในบริเวณกรุงเทพมหานครและพื้นที่ EEC มีเพียง 1 แห่งเท่านั้น
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณลาดกระบังใกล้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

          ด้วยเหตุนี้ เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมายังระบบราง และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์แห่งใหม่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา (หรือ ICD ฉะเชิงเทรา) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนา เพื่อแบ่งเบาภาระของ ICD ลาดกระบัง เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าเข้าสู่พื้นที่ EEC และ 3 ท่าเรือ (ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด) รองรับการรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รองรับการรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศกัมพูชา โดยผ่านจังหวัดสระแก้ว อีกทั้ง ยังรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ EEC กับนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น การพัฒนา ICD แห่งใหม่ที่ฉะเชิงเทรานี้ประกอบกับการเชื่อมโยงโดยระบบรถไฟทางคู่ซึ่งมีแผนขยายโครงข่ายทั่วประเทศไทย จะช่วยลดการพึ่งพาการขนส่งทางถนนซึ่งมีต้นทุนการขนส่งสินค้าที่สูงกว่า ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าโดยรวมของประเทศลดลง เพิ่มความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า เพิ่มความสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ และเป็นปัจจัยสำคัญในจูงใจให้ต่างชาติมาตั้งฐานการผลิตสินค้าในประเทศไทยมากขึ้น


CONTACT

1199 Piyawan Tower 8th Fl.,Phaholyothin Rd., Phayathai, Phayathai, Bangkok 10400

Tel : (+66) 2 619-9931

Fax: (+66) 2 619-9932

E-mail : dc@decade.co.th