คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เห็นชอบให้กรมทางหลวงดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ในรูปแบบให้เอกชน ร่วมลงทุน อย่างไรก็ตาม ทล. ได้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2558 จำนวน 21 สายทาง ระยะ 20 ปี รวมระยะทางทั้งสิ้น 6,612 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.11 ล้านล้านบาท อาจจะมีอุปสรรคในการลงทุนการพัฒนาเนื่องจากจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินค่อนข้างมาก และในขณะเดียวกันก็อาจจะไม่สามารถจูงใจให้ภาคเอกชนในการลงทุน นอกจากนี้ หากพิจารณาในภาพรวมของภาระงบประมาณของภาครัฐในการลงทุนก่อสร้าง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับประเด็นด้านความปลอดภัยบนท้องถนนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงถนนสายหลักในปัจจุบันให้มีความปลอดภัยและสามารถรองรับ การขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรวมทั้งนวัตกรรมในรูปแบบของ Smart Road
ดังนั้น การพัฒนาเส้นทางสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างภาคหรือเส้นทางหลวงสายหลักเดิม ให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงการพัฒนารูปแบบจุดตัดเดิม การเข้า-ออกทางหลวง การสร้างเส้นทางสายรองเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนสองข้างทาง เป็นต้น ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้เส้นทางมากที่สุด โดยแนวทางการพัฒนาในรูปแบบดังกล่าวนี้จะช่วยให้การก่อสร้างระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในการดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองซึ่งมีความจำเป็นต่อบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางโลจิสติกส์ของกลุ่มประเทศอินโดจีนและภูมิภาคอาเซียน1199 Piyawan Tower 8th Fl.,Phaholyothin Rd., Phayathai, Phayathai, Bangkok 10400
Tel : (+66) 2 619-9931
Fax: (+66) 2 619-9932
E-mail : dc@decade.co.th